Monday, February 13, 2012

วิธีการกรองน้ำแบบต่างๆ

สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งวิเคราะห์วิจัยเสร็จหมาดๆ จริงๆแล้ว คนไทยดื่มน้ำ RO กันมาตั้งนานหลายปีแล้ว...น้ำขวดที่วางขายกันตามท้องตลาด ส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำที่ผลิตจากกระบวนการ RO (REVERSE OSMOSIS) เหมือนกัน

“น้ำดื่ม น้ำบรรจุขวดที่ขายในบ้านเราส่วนใหญ่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ใช้กระบวนการผลิตแบบกรอง” รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ เกริ่นให้ความรู้เรื่อง การผลิตน้ำดื่มในบ้านเรา
ขั้นตอนการผลิตน้ำดื่มแบบยอดนิยม เริ่มตั้งแต่การสูบน้ำดิบ (น้ำประปา/น้ำบาดาล/น้ำบ่อ) กรองด้วยคาร์บอน ก็ถ่านนั่นแหละ เพื่อกรองสี กรองกลิ่น ต่อด้วยใช้เรซินกรองแคลเซียม กับแมกนีเซียมออกไป

จากนั้นกรองหยาบด้วยฟิลเตอร์ขดเชือก เพื่อกรองเศษผงตะกอนขนาด 10 ไมครอนขึ้นไป เสร็จแล้วกรองละเอียดด้วยกระบอกเซรามิก กรองจุลินทรีย์ตัวจิ๋วขนาด 0.3-1 ไมครอน อย่างสาหร่าย ตะไคร่น้ำ แล้วตามด้วยการฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (อัลตราไวโอเลต) หรือระบบโอโซน

นี่เป็นขั้นตอนการกรองน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานทั่วไป...สะอาด เหมาะแก่การบริโภค ส่วนการกรองอีกแบบที่เรียกว่า RO...จะให้ความสะอาดมากกว่า กรองการใช้แรงดันสูงฉีดน้ำให้ผ่านเยื่อบางๆ ที่เรียกว่า “Membrane” เยื่อนี้สามารถกรองน้ำให้สะอาดได้มากกว่า...เพราะกรองได้เล็กละเอียด ถึงขนาดกรองโมเลกุล กรองอะตอมของน้ำได้เลย

เชื้อโรค จุลินทรีย์ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีทางหลุดผ่านเยื่อกรองนี้ได้
ถึงระบบ RO จะกรองได้สะอาดจัด ดร.วิสิฐ บอกว่า น้ำที่ได้จากการ กรองระบบนี้เลยมีข้อด้อย น้ำรสชาติไม่อร่อย...ไม่เหมือนการกรองแบบธรรมดา

นอกจากนั้น ในบ้านเรายังมีระบบทำความสะอาดน้ำอีกแบบ กรองได้ดีกว่าระบบ RO นั่นก็คือ การกรองแบบที่เรียกว่า Deionized water ระบบนี้ไม่เพียงกรองสิ่งสกปรก แร่ธาตุสารอาหารที่อยู่ในน้ำเท่านั้น... ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในน้ำยังถูกกรองออกไปด้วย
ในน้ำจะมีแต่น้ำอย่างเดียว...ไม่มีอะไรเจือปนเลย

น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่จะได้จากการกรองแบบนี้ ทำขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ผสมยา ใช้ในห้องทดลอง รวมทั้งใช้เติมแบตเตอรี่รถยนต์
ที่เราหลงผิดเรียกกันว่าน้ำกลั่น จริงๆแล้วเค้าไม่ได้กลั่น...แต่ใช้วิธีกรองแบบ Deionized water นี่ต่างหาก

น้ำสะอาดบริสุทธิ์ตัวนี้แหละ...ที่ไม่ควรดื่ม!

ส่วนน้ำอย่างอื่นๆ กรองแบบทั่วไป กรองแบบ RO ก็ดื่มได้
เพราะหลังจากมีข่าวว่าน้ำดื่ม RO อันตราย ผศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย หัวหน้าฝ่ายเคมีทางอาหาร สถาบันวิจัยโภชนาการ ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างน้ำทั้งหมด 29 ชนิด มาตรวจวิเคราะห์
ตั้งแต่ น้ำฝน, น้ำประปา, น้ำประปาต้ม, น้ำผ่านเครื่องกรองที่ติดตั้งตามบ้าน, น้ำผ่านเครื่องกรองของหอพักพยาบาล

น้ำดื่มบรรจุขวดที่วางขายกันตามท้องตลาด, น้ำดื่มที่ผ่านกระบวนการกรองแบบ RO รวมทั้งน้ำแร่อีกหลายยี่ห้อ ที่วางขายกันตามซุปเปอร์มาร์เกต สรุปง่ายๆ...น้ำอะไรที่สะอาดพอจะดื่มได้ ดร.รัชนี เอามาตรวจวิเคราะห์หมด

เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นกันจะจะ รู้กันให้ชัด น้ำ RO กับน้ำดื่มทั่วไป มีแร่ธาตุแตกต่างมากมายแค่ไหน ถ้าไม่ดื่มน้ำพวกนี้ ร่างกายจะขาดแร่ธาตุ เกลือแร่ จนเป็นเหตุให้ต้องป่วยล้มตาย พิกลพิการเหมือนอย่างที่เขาว่ากันหรือเปล่า?

ผลการตรวจน้ำดื่มหาแร่ธาตุ 7 ชนิด...โซเดียม (Na), โปแตสเซียม (K), คลอไรด์ (Cl), แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg), เหล็ก (Fe) และ สังกะสี (Zn)

ปรากฏว่า น้ำดื่มทุกชนิด มีปริมาณแร่ธาตุสารอาหารน้อยใกล้เคียงกัน... แทบไม่แตกต่างกันเลย ขนาดน้ำฝน น้ำจากธรรมชาติ ยังมีแร่ธาตุบางตัวน้อยกว่าน้ำประปาซะอีก แม้แต่น้ำแร่ราคาแพง ที่ว่าแน่ มีแร่ธาตุมากกว่าน้ำดื่มอย่างอื่น...ก็มีไม่เท่าไร
ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแต่ละวัน
หัวหน้าฝ่ายเคมีทางอาหาร ยกตัวอย่าง...น้ำแร่ยี่ห้อหนึ่ง มีโซเดียมสูงถึง 56.5 ไมโครกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ร่างกายเราต้องการโซเดียมวันหนึ่ง 2,400 มิลลิกรัม หรือวันละ 2.4 ล้านไมโครกรัม
ถ้าจะให้ได้โซเดียมเท่าที่ร่างกายต้องการ...ต้องดื่มน้ำแร่นี้วันละ 4,200 ลิตร มนุษย์หน้าไหนจะดื่มได้ขนาดนั้น...คนเราต้องดื่มน้ำวันละลิตรครึ่งเท่านั้นเอง
แร่ธาตุอื่นๆในน้ำดื่มทั้ง 29 ตัวอย่างก็เช่นกัน มีแร่ธาตุน้อยมาก... ในระดับไม่มีนัยสำคัญ ต่อความต้องการของร่างกายแม้แต่น้อย

ผลการตรวจวิเคราะห์ ดร.รัชนี สรุป...คนเราได้แร่ธาตุจากอาหารเป็นหลัก ร่างกายคนเราไม่ได้หวังพึ่งสารอาหารแร่ธาตุจากน้ำแต่อย่างใด “ร่างกายคนเราต้องการน้ำเพื่อรักษาความสมดุลในร่างกาย ไม่ให้ระดับเคมีในร่างกาย มีความเป็นกรดเป็นด่างมากจนเกินไป ต้องการน้ำเพื่อไปชำระของเสียส่วนเกิน ออกไปจากร่างกาย ต้องการน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื่นให้กับผิวหนัง”

เหมือนอย่างที่เราทานเค็มมาก จะเกิดการกระหายน้ำ ร่างกายต้องการน้ำเพื่อไปเจือจาง ความเค็มให้น้อยลง และชะล้างความเค็มส่วนเกินให้ออกไปจากร่างกาย

ดร.รัชนี ยังบอกอีกว่า น้ำที่ไม่ควรดื่มคือน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ที่เกิดจากกระบวนการ Deionized water สะอาดบริสุทธิ์ แม้แต่ประจุไฟฟ้ายังไม่ หลงเหลือ น้ำบริสุทธิ์จนบริสุทธิ์ ไม่ควรดื่มก็เพราะร่างกายเรายังหวังพึ่งประจุไฟฟ้า ในน้ำมาช่วยปรับความสมดุลของร่างกาย


อ้างอิงบางส่วนจาก
http://www.balavi.com/webboard/QAview.asp?id=276