Tuesday, August 25, 2015

ดื่มน้ำ แบบไหนจึงจะสุขภาพดี

ปริมาณน้ำดื่มที่ดื่มในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อยเลือดจะข้น ระบบไหลเวียนของเหลวในร่างกายผิดปกติ ผิวพรรณหยาบกร้าน รวมทั้งอาจเกิดการเจ็บป่วยต่างๆ แต่หากดื่มน้ำมากเกินไปก็ใช่ว่าจะเป็นผลดี เพราะไตจะทำงานหนัก ส่งผลให้ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ความดันสูง น้ำหนักมากขึ้น ร่างกายบวมน้ำ รวมถึงอาจส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ แต่ละวันมนุษย์ควรดื่มน้ำปริมาณเท่าไร และดื่มน้ำอะไรถึงจะปลอดภัย



สูตรคำนวณปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะกับคุณ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดสูตรคำนวณปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของแต่ละคน ในแต่ละวันไว้ดังนี้ น้ำหนักตัว (ก.ก.)/2 x 2.2 x30 = … C.C. (1000 C.C. = 1 ลิตร, 1 ลิตร = 5 แก้ว)

สมมติ ว่ามีน้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม 55/2 x 2.2 x 30 = 1815 C.C. 1815 C.C. = 1.8 ลิตร 1.8 ลิตร = 9 แก้ว เมื่อทราบปริมาณน้ำดื่มต่อวันแล้ว จะต้องมีเทคนิคในการดื่มน้ำให้เกิดประโยชน์กับร่างกายมากที่สุดด้วย เทคนิคง่าย ๆ ที่ว่านั้นมีอยู่ 2 ข้อคือ

หลัง ตื่นนอน ก่อนแปรงฟัน ให้ดื่มน้ำทันที 2-5 แก้ว เพื่อช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ควรเป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ไม่ใช่น้ำเย็น ที่ต้องดื่มตอนเช้าเพราะเป็นช่วงที่ร่างกายขับสารพิษได้ดีที่สุด ดื่มน้ำแต่น้อยระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ควรเกิน 1 แก้ว หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว 40 นาทีจึงค่อยดื่มน้ำตาม เพื่อให้กระเพาะย่อยอาหารได้เต็มที่ ที่สำคัญไม่ควรดื่มน้ำเย็น เพราะจะไปรบกวนการย่อย ทุกวันนี้เราดื่มน้ำอะไรกันอยู่



น้ำประปาดื่มได้?

ปัจจุบัน น้ำประปาของการประปานครหลวงผ่านการผลิตและควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จึงดื่มได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบเดินท่อประปาในบ้าน ท่อเหล็กมีอายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี ที่ปลอดภัยที่สุดคือท่อพลาสติก เพราะไม่เป็นสนิม การต้มน้ำประปาจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำและลดความกระด้างไปพร้อมกัน ทั้งยังลดกลิ่นคลอรีนได้ด้วย ส่วนน้ำประปาที่ผ่านระบบกรอง ก็ขึ้นอยู่กับตัวกรองที่เลือกใช้ บางบ้านอาจใช้ตัวกรองถ่าน (Activated carbon) และเรซิน (Resin) ซึ่งก็สะอาดเพียงพอใกล้เคียงน้ำบรรจุขวด เว้นแต่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อ ด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือโอโซน



น้ำดื่มบรรจุขวด

The International Bottled Water Association หรือสมาคมน้ำบรรจุขวดนานาชาติ ได้ให้นิยามของน้ำบรรจุขวดไว้ว่า น้ำดื่ม (Drinking Water) น้ำ ดื่มในบ้านเรานั้นได้มาจากแหล่งน้ำบาดาลและน้ำประปา ผ่านการกรองชั้นถ่านเพื่อดูดกลิ่น ตามด้วยการผ่านสารเรซินเพื่อลดความกระด้าง ขั้นตอนสุดท้ายคือ การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนในน้ำ ด้วยการผ่านแสงอุลตร้าไวโอเลตหรือก๊าซโอโซน ที่เราเรียกกันจนคุ้นเคยว่าน้ำ UV หรือน้ำโอโซนนั่นเอง



น้ำธรรมชาติ (Natural Water) 

คือ น้ำใต้ดิน รวมทั้งน้ำพุ (Spring) น้ำแร่ (Mineral) น้ำบ่อ (Well) และน้ำพุที่เจาะขึ้นมาจากแหล่งใต้ดิน (Artesian Well) ไม่นับรวมแหล่งน้ำสาธารณะและน้ำประปา ในการผลิตน้ำธรรมชาติ ห้ามใช้กระบวนการอื่นใดนอกจากการกรองเศษฝุ่นละอองและการฆ่าเชื้อโรค ด้วยวิธีการผลิตดังกล่าว จึงทำให้น้ำแร่บรรจุขวดมีความใกล้เคียงกับน้ำจากแหล่งกำเนิดมาก และการที่น้ำแร่มีคุณสมบัติแตกต่างกันตามแหล่งน้ำธรรมชาตินี้เอง จึงต้องมีการกำหนดค่าปริมาณเกลือแร่ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก และสตรีมีครรภ์ที่มีระบบย่อยอาหารไม่ดีเท่าคนทั่วไป เพราะน้ำแร่จะออกฤทธิ์เป็นยาระบาย หากมีปริมาณซัลเฟตมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อลิตร (ยกเว้นแคลเซียมซัลเฟต)

         
น้ำเพียวริไฟด์ (Purified Water) 
เรียกง่ายๆ ว่าน้ำกลั่น เป็นน้ำที่ผลิตด้วยการกลั่น คือต้มน้ำจนเดือดแล้วระเหยกลายเป็นไอ เมื่อไอน้ำกระทบพื้นผิวที่เย็นจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ หรืออีกวิธีคือ การใช้กระแสไฟฟ้าแยกเกลือแร่ (Deionization) ที่ปนอยู่ออก แล้วน้ำไปผ่านขั้นตอนการกรองด้วยวัสดุที่มีรูขนาดเล็ก 0.0006 ไมครอน (1 เมตรเท่ากับ 1 ล้านไมครอน) เมื่อแร่ธาตุต่างๆ ถูกกรองออกหมดจะได้น้ำที่บริสุทธิ์มาก จนแทบไม่เหลือความกระด้างอยู่เลย แต่ที่จริงแล้วร่างกายคนเราก็ไม่จำเป็นต้องได้รับน้ำบริสุทธิ์ขนาดนั้น

       

ขวดแบบไหนเหมาะใส่น้ำดื่ม

ขวดที่นิยมใช้บรรจุน้ำดื่มในปัจจุบัน มี 4 ชนิด คือ ขวดแก้วใส ขวดพลาสติกใสและแข็ง (Polystyrene) ขวดพลาสติกเพท (Polyethylene terephthalate, PET) ซึ่งมีลักษณะใสและกรอบ และสุดท้าย ขวดพลาสติกขาวขุ่น (High-density polyethylene, HDPE)

ขวด 3 ชนิดแรกใช้บรรจุน้ำดื่มได้ดีกว่าขวดพลาสติกสีขาวขุ่น เคยมีการทดลองนำน้ำดื่มบรรจุขวดสีขาวขุ่นไปตั้งกลางแดดนาน ๆ จะมีกลิ่นของพลาสติกปนมากับน้ำ แม้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่ก็ทำให้คุณภาพของน้ำลดลง ข้อเสียอีกประการหนึ่งคือ ขวดขาวขุ่นไม่เหมาะที่จะนำมารีไซเคิล ต่างจากขวดอีกสามชนิดที่รีไซเคิลง่ายและใช้ได้ทนทานกว่า ส่วนวันหมดอายุของน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นคือประมาณ 2 ปี นับจากวันผลิตที่ระบุไว้บนฉลาก